ในโลกการทำงานจริงนั้น บ่อยครั้งที่เจ้านายหรือหัวหน้าอาจไม่ได้เฉียบแหลมกว่าลูกน้องเสมอไป การ รับมือกับลูกน้องเก่งๆ ไม่ใช่เรื่องยากแค่ทำตามเทคนิคที่แนะนำ คล้ายคลึงกับเรื่องราวของเล่าปี่กับขงเบ้ง หรือแม้แต่แม่ทัพที่เกรียงไกรย่อมต้องมีทหารเอกเก่ง ๆ คู่ใจ ยามรบกับใครก็มักได้รับชัยชนะอยู่เสมอ เปรียบเหมือนการมีคนเก่ง ๆ หรือลูกน้องฝีมือดีอยู่ในองค์กร พวกเขาเหล่านี้นี่แหละที่จะมีบทบาทสำคัญ ช่วยส่งเสริมการทำงานให้เราประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ก้าวสู่เส้นชัยได้ตามความมุ่งหวังตั้งใจ
รับมือกับลูกน้องเก่งๆ ไม่ใช่เรื่องยากแค่ทำตามเทคนิคที่แนะนำ
แทนที่เจ้านายหรือหัวหน้าจะรู้สึกนอยด์หรือกลัวเสียหน้าเมื่อมีลูกน้องที่ทำงานเก่งกว่า ให้ลองเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ พลิกสถานการณ์ให้เป็นความท้าทาย แม้ความเชื่อเดิม ๆ หรือภาพจำส่วนใหญ่ อาจทำให้เรารู้สึกว่าคนเก่งโดยมากมักมีความมั่นใจและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ทำให้ควบคุมบริหารจัดการได้ยาก สำหรับเรื่องนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลจนเกินไปนัก เพราะบรรดาผู้นำที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายล้วนมีกุศโลบายรับมือจัดการกับลูกน้องเก่ง ๆ ได้ พอจะหยิบยกมาเป็นแนวทางให้สามารถนำไปปรับใช้กันได้ตามความเหมาะสม
- ใช้คนเก่งให้เป็นประโยชน์ – เมื่อมีคนเก่งอยู่ในทีม จงใช้ข้อได้เปรียบนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พยายามดึงความสามารถต่าง ๆ ของพวกเขาออกมาใช้ ค้นหาว่าพวกเขามีจุดเด่นในเรื่องใด อะไรเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเรียนรู้เพิ่มเติม แล้วท้าทายพวกเขาด้วยการมอบหมายงานที่จะสามารถนำคนเก่งเหล่านี้ไปสู่ความก้าวหน้าในอนาคตได้
- เรียนรู้จากคนเก่ง -เปลี่ยนการแย่งซีน การแข่งขันชิงดีชิงเด่น ให้เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน หัวใจสำคัญของการบริหารคือการจัดการคนและกำหนดทิศทางในการทำงานให้ทีม ไม่ใช่การแข่งขันประลองความรู้กับลูกน้อง คนเป็นหัวหน้ามีหน้าที่ต้องเอาชนะใจไม่ใช่เอาชนะงาน ดังนั้น ถ้าลูกน้องเก่งกว่าก็เรียนรู้จากเขา ถามคำถาม และบางครั้งอาจลงมือทำเองบ้าง เพื่อจะได้มีโอกาสสัมผัสกับหน้างานจริง ๆ อย่ามองว่าเป็นเรื่องเสียฟอร์ม เสียการปกครอง ไม่แน่ว่าการใส่ใจถามไถ่เรื่องงานของหัวหน้า ถ้ามาถูกทาง อาจเกิดผลพลอยได้ในเรื่องการสร้างความยอมรับ และเป็นการกระชับความสัมพันธ์กันอีกทางหนึ่งด้วย
- ยิ่งไม่รู้ ยิ่งต้องถาม – คนเราไม่ได้เก่งทุกอย่างฉันใด หัวหน้าหรือเจ้านายก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่องฉันนั้น อย่าติดกับดักความคิดที่ว่าหัวหน้าต้องเก่งกว่าลูกน้อง เมื่อหัวหน้าถูกลูกน้องถามในเรื่องที่ไม่รู้ การพูดตรง ๆ ว่าไม่รู้ แม้ฟังดูง่าย แต่ก็ยากมหาศาล สิ่งที่ช่วยได้มากที่สุดก็คือความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริง ไม่ใช่สิ่งที่น่าอับอายเมื่อมีเรื่องที่เราไม่รู้ แต่เป็นทักษะที่ผู้นำทั้งหลายต้องฝึกฝนให้เป็นนิสัย เมื่อไม่รู้ให้ตอบตามตรง และขอความช่วยเหลือจากคนมีความรู้ความสามารถ อย่ามองว่าเป็นพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องของคนอ่อนแอ กลับกันเป็นการแสดงออกถึงความเข้มแข็งอย่างที่สุด เพราะกล้าหาญที่จะยอมรับความจริงในเรื่องที่ไม่รู้หรือทำไม่ได้ หัวหน้าที่ทำเช่นนี้ได้ถือว่าน่าชื่นชมสุดๆ
- รู้กว้าง สร้างวิสัยทัศน์ – บางครั้งหัวหน้าอาจไม่มีความรู้และความชำนาญในงานระดับปฏิบัติการอย่างลึกซึ้งเท่าลูกน้อง เพราะไม่ได้อยู่หน้างานอย่างใกล้ชิดทุกวัน แต่หัวหน้าก็จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องอื่น ๆ ที่ลูกน้องไม่รู้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ยาวไกล การวางกลยุทธ์อย่างแยบคาย การตัดสินใจอย่างรอบคอบ การบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ อย่างราบรื่น หรือแม้แต่การแก้ปัญหาอย่างเฉียบคม ความรู้แบบกว้าง ๆ นี่แหละที่จะเป็นตัวช่วยเพิ่มมูลค่าของหัวหน้า และเรียกความศรัทธาจากลูกน้องได้เป็นอย่างดี
- ให้เครดิต เสริมสร้างกำลังใจ – ให้กำลังใจคนทำงานเก่ง ๆ ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จในการทำงานของพวกเขาให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้บริหารคนอื่น ๆ ฟัง ชื่นชมคนเก่งว่าเป็นคนสำคัญของทีมและขององค์กรโดยรวม ไม่ว่าใครก็ต้องรู้สึกดีทั้งนั้น เมื่อหัวหน้าหรือเจ้านายมองเห็นคุณค่าในตัวเรา
- ดัน “ดารา” – เปิดโอกาสให้ลูกน้องเก่ง ๆ ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เมื่อเห็นโอกาสที่ดีและเหมาะสม ก็ไม่ควรเก็บเขาไว้ที่เดิมจนไม่ได้มีโอกาสเติบโต ส่งเสริมให้เขาได้มีโอกาสรับผิดชอบงานใหม่ ๆ ที่ท้าทาย และเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งได้เติบโตในสายงานขึ้นเป็นลำดับ
- กำจัดความกลัว สร้างความมั่นใจ – คนทั่ว ๆ ไปย่อมมีความกลัวในเรื่องต่าง ๆ เป็นธรรมดา ทั้งกลัวไม่เป็นที่รัก กลัวไม่ดีพอ กลัวไม่เข้าพวก ฯลฯ ความกลัวเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของความไม่มั่นใจและไม่เป็นตัวของตัวเอง วิธีการรับมือกับความกลัวไม่ใช่เรื่องยาก เพียงยอมรับความกลัวด้วยความมั่นใจ แล้วเดินหน้าต่อไป ให้เตือนตนเองเสมอว่าการจ้างและพัฒนาคนที่มีความสามารถเป็นสิ่งที่เจ้านายและหัวหน้าที่ดีควรทำ เพื่อผลดีของทีมและเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร