แน่นอนว่าไม่มีองค์กรไหนหรือบริษัทใดที่จะมีแต่พนักงานคนเดิม ชุดเดิมอยู่ทำงานตั้งแต่ก่อตั้งจวบจนถึงปัจจุบันอย่างแน่นอน ตามวงจรชีวิตการทำงานก็จะมีทั้งพนักงานคนเก่าและพนักงานคนใหม่หรือแม้แต่ ฟรีแลนซ์ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ขึ้นอยู่ที่ว่าบริษัทนั้น ๆ ตอบโจทย์ของพนักงานได้มากน้อยแค่ไหน เพราะพนักงานแต่ละคนก็มีเงื่อนไขในการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน และแน่นอนว่าเมื่อมีพนักงานเก่าก็ต้องมีพนักงานใหม่ บางองค์กรอาจจะไม่มีปัญหา แต่ในหลาย ๆ องค์กรกลับเกิดปัญหาระหว่างพนักงานเก่ากับพนักงานใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ
ความสำคัญระหว่าง พนักงานเก่ากับพนักงานใหม่ แบบไหนดีกว่ากัน
ข้อดีของพนักงานใหม่
ช่วยแบ่งเบางาน เพราะเหตุผลหลักที่หลาย ๆ บริษัทเปิดรับพนักงานใหม่ก็เพื่อมาช่วยแบ่งเบาภาระในการทำงานภายในออฟฟิศนั่นเอง
ว่านอนสอนง่าย เพราะเป็นพนักงานใหม่ ยังไม่รู้จักใคร ย่อมไม่มีปากมีเสียง หรือไม่เป็นตัวตั้งตัวดีในการก่อปัญหากับคนอื่น ๆ แน่นอน
มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะด้วยความที่เป็นน้องใหม่ ไม่ว่าจะเป็นน้องใหม่วัยเพิ่งเรียนจบ หรือจะเป็นใหม่ที่นี่แต่เก่ามาจากที่อื่นก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความคิดใหม่ ๆ ติดตัวมาเสมอ ส่วนหนึ่งด้วยความที่มาจากอีกองค์กรหนึ่ง มาจากอีกมุมองหนึ่งเลยเสมือนเป็นตัวกระตุ้นความสร้างสรรค์ให้ทีมได้
กระตือรือร้น ด้วยความที่เป็นน้องใหม่ ย่อมมีไฟในการทำงานมากเป็นธรรมดา ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากน้องใหม่ในทีมจะสามารถทำงานได้เป็นตั้ง ๆ หรือสั่งอะไรก็สามารถทำให้ได้ทันที
เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ง่าย เพราะด้วยความสด ความใหม่นั่นเองที่ทำให้พนักงานใหม่เปรียบเสมือนน้ำที่ยังไม่เต็มแก้ว พร้อมที่จะรับรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ ๆ และที่สำคัญส่วนใหญ่มักจะเรียนรู้ได้เร็วเสียด้วย
ข้อเสียของพนักงานใหม่
ประสบการณ์น้อย หรือไม่มีประสบการณ์เลย ซึ่งเป็นข้อเสียที่มักจะพบได้บ่อย ๆ
เสียเวลาในการเทรน สำหรับน้อง ๆที่เพิ่งเรียนจบถือว่าต้องสอนกันยาวไหนจะการปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ ไหนจะต้องปรับตัวให้เข้ากับบริษัท ไหนจะต้องเรียนรู้งานอีกกว่าจะสามารถทำงานได้เต็มที่จริง ๆ ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร หรือแม้แต่คนที่มีประสบการณ์มาแล้วก็ตาม อย่างไรก็ต้องเสียเวลาในการปรับตัวกับองค์กรใหม่ เรียนรู้งานใหม่ เพราะบริษัทแต่ละแห่งแม้จะเป็นงานในขอบเขตที่เหมือนกัน แต่วิธีการทำงานอาจจะไม่เหมือนกัน
ค่าใช้จ่ายสูง ปัจจุบันมีการกำหนดฐานเงินเดือนขั้นต่ำไว้อยู่แล้ว ไหนจะค่าเทรนกว่าจะทำงานได้ดีอีก บริษัทก็ถือว่ามีค่าใช้จ่ายตรงนี้ด้วย
ไม่แน่นอน บางครั้งฝ่ายบุคคลต้องประสบปัญหาพนักงานไม่มาทำงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หรือตอบตกลงมาทำงานแล้วแต่ถึงเวลากลับไม่มาทำงาน หรือแม้แต่พนักงานใหม่ที่ทำงานอยู่บางคนก็อาจจะอยู่ไม่ทน พอถึงระยะหนึ่งก็ลาออก ทำให้ต้องประกาศรับคนใหม่อีกแล้ว
ข้อดีของพนักงานเก่า
ทำให้งานราบรื่น ด้วยความที่ทำงานมานาน มีประสบการณ์ ฉะนั้นจึงไม่ทำให้บริษัทต้องสะดุดหรือชะงักแน่นอน
รู้งาน เพราะทำงานมานานสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดีเพราะมีประสบการณ์ในการทำงานแล้ว ย่อมมีทักษะในการแก้ไขปัญหาได้
รู้จักบริษัท รู้ประวัติความเป็นมาของบริษัท รู้ที่มาที่ไปและวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไร จึงสามารถปรับตัวให้อยู่ได้อย่างไม่อึดอัด
มั่นคง ส่วนใหญ่พนักงานเก่ามักจะมีอายุงานนาน มักจะไม่เปลี่ยนงานบ่อย ๆ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการเทรนด์งาน สามารถสั่งงานได้เลย
ข้อเสียของพนักงานเก่า
เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ช้า ทำให้บางครั้งตัวบริษัทไม่สามารถปรับเปลี่ยนตามกระแสโลกภายนอกได้ทัน ก็กลายเป็นองค์กรล้าสมัยไป
มีความคิดเป็นของตัวเอง ด้วยความที่ทำงานมานาน มีประสบการณ์การทำงานเยอะกว่าทำให้พนักงานเก่ายึดความคิดของตัวเองเป็นหลัก จนปิดกั้นแนวทางการทำงานใหม่ ๆ
ความคิดไม่ค่อยสร้างสรรค์ ส่วนหนึ่งด้วยความที่ต้องทำงานเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ทำให้ไม่ค่อยได้พัฒนาความคิด หรือความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ งานที่ออกมาจึงเป็นงานเดิม ๆ
หมดไฟ พนักงานเก่าหลาย ๆ คนเริ่มมีครอบครัว มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น จึงมีเวลาทุ่มเทให้กับงานน้อยลง บางคนทำงานหนักที่ออฟฟิศ กลับบ้านก็ต้องมาทำงานบ้าน ดูแลบ้าน ดูแลครอบครัว พอหัวตกถึงหมอนก็หลับเป็นตาย เช้าตื่นมาก็ไปทำงาน แล้วก็วนลูปอยู่อย่างนี้ทำให้ค่อย ๆ หมดไฟกับการทำงานไปในที่สุด