OKR

OKR คืออะไร ทำไมบริษัทชั้นนำทั่วโลกถึงนิยมนำมาใช้

หลายบริษัทควรสร้าง Growth Mindset ให้กับพนักงาน โดยย้ำว่าการตั้งเป้าหมายที่ยากสามารถทำได้ และการทำงานผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ ตราบใดที่เราพยายามหาวิธีแก้ไข บทความนี้จะพาไปสร้าง Growth Mindset ด้วยการทำความรู้จัก OKR หรือ Objective and Key Results คืออะไร ต่างกับ KPI อย่างไร พร้อมตัวอย่างการเขียนให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องทั้งในระดับองค์กรและพนักงาน

OKR (Objectives and Key Results) คือระบบการตั้งเป้าหมายและวัดผลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อกำหนดทิศทางและผลักดันความสำเร็จในองค์กร มีส่วนช่วยให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน กระตุ้นการคิดนอกกรอบ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการสื่อสาร มี Flexible Working รวมถึงส่งเสริมการเติบโตและการพัฒนาขององค์กรด้วย

โดยมีองค์ประกอบหลักคือ Objectives (O) เป้าหมายหลักที่องค์กรหรือทีมต้องการบรรลุ มักเป็นเป้าหมายที่ท้าทายและสร้างแรงบันดาลใจ สำหรับการตอบคำถาม ‘เราต้องการทำอะไรให้สำเร็จ? (What)’ และอีกส่วนประกอบ Key Results (KR) ตัวชี้วัดที่ใช้วัดความก้าวหน้าสู่เป้าหมายหลัก เป็นตัวเลขที่วัดได้และมีกำหนดเวลาชัดเจน โดยตอบคำถาม ‘เราจะรู้ได้อย่างไรว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว? (How)’

Objectives — เป้าหมาย

O (Objective) หรือเป้าหมายหลัก เป็นการกำหนดเป้าหมายขององค์กร (What) ในระบบ โดยมีหลักการตั้ง Objective ให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้

  • ตั้งเป้าหมายหลักให้ท้าทายและสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อกระตุ้นให้พนักงานรู้สึกมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย
  • ตั้งเป้าหมายหลักที่เน้นผลลัพธ์เชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพื่อสร้างคุณค่า
  • ตั้งเป้าหมายหลักให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์องค์กร เพื่อสนับสนุนเป้าหมายรวมขององค์กร
  • ตั้งเป้าหมายหลักให้สมเหตุสมผล มีความท้าทายได้แต่ไม่เกินความเป็นไปได้ จนทำลายกำลังใจ
  • ตั้งเป้าหมายหลักให้เหมาะสม โดยตั้งตามความสามารถและลักษณะงานของแต่ละแผนกด้วย
  • ตั้งเป้าหมายหลักโดยจำกัดจำนวนอยู่แค่ 3-5 ข้อ เพื่อให้ได้โฟกัสกับเป้าหมายมากขึ้น

Key Results — ผลลัพธ์สำคัญ

K (Key Results) คือตัวชี้วัดความก้าวหน้าสู่ Objective แต่ละข้อ โดยเป็นตัววัดเชิงปริมาณ ที่มีเป้าหมายชัดเจน เช่น กำหนดเวลา ตัวเลขเป้าหมาย หรือการกระทำที่เฉพาะเจาะจง โดยหลักการตั้ง Key Results ที่มีประสิทธิภาพ มีดังนี้

  • ตัวชี้วัดต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายหลักที่ตั้งไว้
  • ตัวชี้วัดต้องวัดผลได้ชัดเจน โดยมีค่าเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง 
  • ควรมีตัวชี้วัด 3-5 ข้อ ต่อ 1 Objective เพื่อการวัดผลที่มีประสิทธิภาพ
  • ตั้งตัวชี้วัดได้ 2 ประเภทหลัก คือ Activity-Based Key Results และ Value-Based Key Results