Lung Cancer มะเร็งปอดใกล้ตัวกว่าที่คิดกับภาวะมลพิษ PM 2.5
มะเร็งปอดคือโรคที่เซลล์ในหลอดลมหรือถุงลมเจริญเติบโตมากผิดปกติจนเป็นก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ และสามารถแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ มะเร็งปอดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 2 ชนิด คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก และ ชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก ซึ่งกลุ่มหลังพบได้ 90% ของมะเร็ง และกลุ่มนี้ยังแยกย่อยออกไปเป็นชนิดต่าง ๆ เช่น adenocarcinoma ซึ่งปัจจุบันมีการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นและมีผลการตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดีมาก
อาการของโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งของตัวก้อนมะเร็ง เช่น หากอยู่ใกล้หลอดเลือดและหลอดลมอาจจะมีอาการเหนื่อย ไอเป็นเลือด หากอยู่ในกระดูกจะมีอาการปวดกระดูกอย่างมาก หากอยู่ในตับอาจจะมีอาการปวดท้อง ตับโต และการทำงานของตับอาจจะผิดปกติ หากอยู่ที่สมองอาจจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นต้นสำหรับอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย เช่น มีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อย หายใจไม่สะดวก มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อย ๆ
สาเหตุของมะเร็งปอด
- การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มาเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด เช่น สูบบุหรี่ 10 มวน/วัน เป็นระยะเวลา 20 ปี เท่ากับมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า
- มีการกลายพันธุ์ของยีนในร่างกายบางชนิด ที่ทำให้เซลล์เจริญเติบโตกลายเป็นเซลล์มะเร็งปอด ในประเทศไทยที่พบได้บ่อย เช่น ยีน EGFR, ALK
- สำหรับเรื่องฝุ่น PM 2.5 ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเบื้องต้นพบว่า ฝุ่น PM 2.5 เมื่อสูดดมเข้าไปโดยตรงทำให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ ในทางเดินหายใจขึ้น ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอดได้
- สาเหตุอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด เช่น แร่ใยหิน ควันถ่านหิน ประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง
มีวิธีป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งปอดได้อย่างไร
- งดการสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่จากผู้ที่สูบบุหรี่
- ดูแลและสังเกตอาการผิดปกติเป็นประจำ มีการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- ปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสุขลักษณะและสารอาหารครบ 5 หมู่
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจคัดกรองในผู้ที่มีความเสี่ยง ด้วยวิธีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ
ปัจจุบันแนะนำให้ตรวจคัดกรองตั้งแต่คนที่อายุ 50 ปี และมีประวัติเคยสูบบุหรี่มากกว่า 20 pack-yrs วิธีคิดหน่วย pack-yrs นำจำนวนบุหรี่ที่สูบเป็นซองต่อวัน คูณจำนวนปีที่สูบ