Chance of Investment เปิดโอกาส การลงทุน ฉบับมนุษย์เงินเดือนในยุคโควิด
ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ในปัจจุบันนี้ ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ผู้ประกอบการหลายองค์กร หรือแม้กระทั่ง ฟรีแลนซ์ เองก็โดนกันถ้วนหน้า หลายบริษัทจำเป็นต้องให้พนักงานหยุดงานเพื่อที่จะควบคุมรายจ่ายให้ได้มากที่สุด ทำให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเรารู้สึกถึงความไม่แน่นอนในอนาคต และรู้สึกไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่หลายคนเริ่มศึกษาการวางแผนทางการเงินอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะรายจ่ายเป็นสิ่งที่เราทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถบริหารเงินที่เหลือให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ บริหารการออมอย่างไร ที่จะทำให้เกิดการเพิ่มพูนมูลค่าของทรัพย์สินได้ หนึ่งในวิธีนั้นก็คือ “การลงทุน” (Investment) ที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราควรเริ่มหันมาสนใจ เพื่ออนาคตในวันข้างหน้า
การลงทุน คือ การนำเอาทรัพย์สินที่บุคคลมีอยู่ ไปดำเนินการในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในช่วงเวลานั้น ๆ แต่เราต้องทำความเข้าใจว่า “กำไร” ก็คือ “ความเสี่ยง” เราจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงที่เราสามารถรับได้ และศึกษาสินทรัพย์ที่เราต้องการลงทุนให้เข้าใจก่อนจะเริ่มลงทุน สินทรัพย์ในรูปแบบต่าง ๆ สามารถแบ่งความเสี่ยงในการลงทุนจากระดับเสี่ยงมากไปถึงเสี่ยงน้อย ยิ่งมีความเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนก็จะต่ำลง ในทางกลับกัน ยิ่งมีความเสี่ยงมาก ผลตอบแทนก็สูงตามไปด้วย
การฝากประจำ (Fixed Deposit Account) – การเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารใดธนาคารหนึ่ง โดยมีสัญญาว่าผู้ฝากจะฝากเงินจำนวนหนึ่ง ในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ทำการถอนเลย ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราที่ตกลงกัน ซึ่งมีอัตราสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ ยิ่งระยะเวลาฝากนาน อัตราดอกเบี้ยยิ่งสูง การฝากประจำมีความเสี่ยงต่ำ แต่ต้องใช้ระยะเวลาเป็นเดือนถึงจะมองเห็นผลตอบแทน เหมาะกับคนที่ต้องการมีเงินเก็บ ไม่หวังผลตอบแทนจำนวนมาก ช่วยสร้างวินัยทางการเงินได้อีกด้วย
พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) – พันธบัตรรัฐบาล หรือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาค “รัฐบาล” ผู้ลงทุนจะมีลักษณะเป็นเจ้าหนี้ ปล่อยเงินกู้ให้หน่วยงานรัฐนำไปใช้เพื่อทำภารกิจต่าง ๆ เมื่อถึงเวลาที่กำหนด รัฐบาลมีหน้าที่คืนเงินต้น และจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล มีความเสี่ยงต่ำ เพราะรัฐมีอำนาจในการเก็บภาษีมาใช้คืนหนี้ เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง ต้องการความแน่นอนของผลตอบแทน
หุ้นกู้ (Corporate Bond) – หุ้นกู้ หรือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาค “เอกชน” เพื่อระดมทุนไปใช้ตามกิจการต่าง ๆ ตามแผนของบริษัท มีลักษณะคล้ายพันธบัตรรัฐบาล แต่หุ้นกู้ของบริษัทเอกชนมักเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ถึงอย่างนั้นการลงทุนในหุ้นกู้ ก็มีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากมีโอกาสที่บริษัทที่เราลงทุน ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ เราอาจจะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ หรืออาจเสียเงินต้นไปเลย หากบริษัทนั้นโดนฟ้องล้มละลาย
กองทุนรวม (Mutual Fund) – คือ การรวบรวมเงินของนักลงทุน โดยจะมีผู้จัดการกองทุน มืออาชีพที่จะมาช่วยบริหารการเงินของนักลงทุน ผู้จัดการกองทุนจะแบ่งเงินออกเป็นส่วน ๆ เพื่อนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ หรือลงทุนในกองทุนรวมด้วยกันเอง เพื่อที่จะได้ผลตอบแทนตามที่ผู้ลงทุนคาดหวัง เหมาะกับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา เนื่องจากต้องแบ่งเวลาไปทำงาน ทำให้บางครั้งไม่มีเวลาศึกษา และติดตามเรื่องการลงทุน จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย ถึงอย่างนั้น เราจำเป็นต้องมีความรู้ในสินทรัพย์ที่เราจะนำเงินไปลงทุน ควรจะมีการตรวจสอบ และติดตามกองทุนรวมที่เราลงทุน ทุก ๆ 6 เดือน ว่ายังเป็นกองทุนที่ดี และได้ผลตอบแทนต่อเนื่องอยู่หรือไม่
หุ้น (Stock) – หุ้น หรือ ตราสารทุน ที่ออกโดยบริษัทต่าง ๆ เพื่อเสนอขาย และนำเงินจำนวนนั้นไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ ของบริษัท ผู้ถือหุ้นจะมีลักษณะเป็นเจ้าของบริษัท มีสิทธิ์ในสินทรัพย์และรายได้ ได้รับผลตอบแทนและเงินปันผลที่กำหนดไว้ โดยจะแบ่งการเป็นเจ้าของตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ ผลตอบแทนที่ได้จากการถือหุ้น มี 2 รูปแบบ
- เงินปันผล มาจากบริษัททำกำไรได้และนำมาปันผลให้ผู้ถือหุ้นฃ
- ส่วนต่างจากการขายหุ้น เราสามารถทำกำไรได้จากการซื้อ-ขาย ถ้าเรา ซื้อถูก ขายแพง = กำไร, ซื้อแพง ขายถูก = ขาดทุน
การลงทุนในหุ้น ได้ผลตอบแทนดี เราไม่ต้องดูแลกิจการเอง ซื้อขายง่าย แต่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนรูปแบบอื่น เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้สูง และมีเงินเย็นในการลงทุน เราจำเป็นจะต้องศึกษาข้อมูลของบริษัทที่เรากำลังจะลงทุนให้ดีก่อนทุกครั้งเสมอ