Freelance

คนอายุ 30+ ทำพนักงานประจำหรือ Freelance กับเทคนิคหางานแบบปังๆ

เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเลข 3 นำหน้า หลายคนคงกังวลในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการหางานใหม่ เพราะบางบริษัทก็มีการระบุช่วงอายุผู้สมัครไว้อย่างชัดเจน ว่าขอไม่เกิน 30 ปี แต่ก็ยังมีหลายบริษัททั่วไปหรือการจ้างงาน Freelance เองที่ไม่ได้นำเรื่องของอายุเข้ามาเป็นข้อจำกัด แต่เน้นวัดกันที่ความสามารถและประสบการณ์ ซึ่งคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป อาจต้องใช้ความพยายามและแสดงให้คนอื่นได้เห็นว่าคุณยังมีความสดใหม่และพร้อมเปิดรับเรื่องต่างๆ อยู่เสมอ บทความนี้เราเลยจะแชร์เทคนิคการหางานดีๆ สำหรับคนอายุ 30+ กัน

เพราะอะไร? บางบริษัทถึงเน้นรับคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี ก่อนอื่นเราลองมาวิเคราะห์กันก่อนว่าทำไมบางบริษัทถึงเน้นรับเด็กๆ ที่อายุยังไม่ถึง 30 ปี เข้าทำงานมากกว่า ก็เพราะว่าบางครั้งตำแหน่งและระดับของพนักงานที่เปิดรับสมัคร ยังไม่ได้ต้องการคนที่มีประสบการณ์มากสักเท่าไร เช่น บางบริษัทเน้นหาผู้สมัครในระดับ Junior ก็ทำให้เด็กจบใหม่หรือคนที่อายุยังน้อยได้รับโอกาสตรงนี้มากกว่า อีกทั้งเด็กจบใหม่ยังอาจมีไฟในการทำงานที่สูงกว่า เพราะยังไม่เคยสัมผัสชีวิตการทำงานจริง จึงอาจมีความกระตือรือร้นมากกว่า

นอกจากนี้เรื่องสำคัญลำดับต้นๆ เลยก็คือ เรื่องของเงินเดือน บางบริษัทมีการกำหนดโครงสร้างเงินเดือนไว้อย่างชัดเจน ว่าตำแหน่งนี้หรือพนักงานระดับนี้ ควรมีฐานเงินเดือนอยู่ที่เท่าไร ซึ่งแน่นอนว่าคนอายุ 30+ ที่อัดแน่นไปด้วยประสบการณ์ และผ่านการปรับขึ้นเงินเดือนมาหลายครั้ง ก็จะมีฐานเงินเดือนที่สูงกว่าเด็กจบใหม่ และเกินฐานเงินเดือนที่บริษัทนั้นๆ วางเอาไว้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางบริษัทถึงเน้นรับเด็กๆ เข้าทำงานมากกว่า

เทคนิคการหางานสำหรับคนอายุ 30+ เมื่อได้รู้ถึงเหตุผลถึงข้อจำกัดเรื่องอายุในการรับสมัครพนักงานใหม่ของบางบริษัทไปแล้ว คราวนี้มาดูกันว่าจะมีเคล็ดลับดีๆ อะไรบ้าง ที่จะช่วยให้คนอายุ 30 ปีขึ้นไป หางานได้ตรงใจคุณที่สุด

คุยกับตัวเองก่อน อันดับแรกเลยคือคุณต้องถามใจตัวเองก่อน ว่าทำไมถึงอยากเปลี่ยนงานใหม่ หรือทำไมถึงอยากลาออกจากที่ทำงานเดิม เพราะบางคนอาจเจอกับปัญหาต่างๆ ในที่ทำงาน หรือเกิดอาการ Burn Out จนอยากไปเจอสภาพแวดล้อมใหม่ๆ แต่ก็อย่าลืมว่าหากลาออกแล้ว ที่ทำงานใหม่กลับไม่ดีอย่างที่คุณคาดหวัง หรือขั้นตอนการหางานยากขึ้นกว่าเดิม นั่นอาจจะกลายเป็นปัญหาแบบทวีคูณได้ โดยตัวอย่างคำถามที่คุณควรถามตัวเอง ได้แก่

  • ข้อดีของการทำงานที่บริษัทเดิมคืออะไร
  • ข้อเสียของการทำงานที่บริษัทเดิมคืออะไร
  • ข้อเสียที่ว่านี้ คุณสามารถจัดการกับมันได้มากน้อยแค่ไหน
  • ลักษณะงานที่แท้จริงที่อยากทำคืออะไร
  • งานที่กำลังทำอยู่ ตอบโจทย์คุณมากแค่ไหน

การเปลี่ยนงานไม่ใช่เรื่องแปลก หากวิเคราะห์แล้วว่าคุณต้องการที่จะลาออกจริงๆ ก็ถึงเวลาที่คุณจะต้องเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวเอง แต่ก่อนอื่นต้องบอกกับตัวเองก่อนว่าการหางานใหม่ในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก รวมไปถึงเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง หรือจะสามารถสู้คนที่ยังมีไฟอยู่ได้ไหม ดังนั้นการปรับวิธีคิดจึงถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ที่จะช่วยเสริมความมั่นใจให้คุณในขั้นตอนของการสมัครงานใหม่ ซึ่งการขาดความมั่นใจนี่แหละที่จะทำให้คุณสอบตก ไม่ใช่เรื่องของอายุแต่อย่างใด

ควรได้งานใหม่ก่อน แล้วค่อยลาออกจากที่เก่า สำหรับข้อนี้จริงๆ แล้วเหมาะกับมนุษย์เงินเดือนทุกช่วงอายุ ไม่ใช่แค่คนอายุ 30+ เท่านั้น เพราะเราไม่มีทางรู้เลยขั้นตอนการหางานใหม่นั้นจะโรยด้วยกลีบกุหลาบหรือเปล่า หรือขั้นตอนการต่างๆ ในการสมัครงานของแต่ละบริษัทก็อาจใช้เวลาที่มากน้อยต่างกัน หากลาออกมาก่อนแล้วไม่มีรายได้รองรับ ก็อาจทำให้การเงินของคุณสะดุดได้ ดังนั้นจึงควรอดทนกับการทำงานในที่เดิมไปก่อน ถ้าได้คอนเฟิร์มกลับมาจริงๆ แล้วค่อยเซ็นใบลาออก

พัฒนาตนเองอยู่เสมอ แม้ว่าคุณจะทำงานมาแล้วสักระยะหนึ่ง จนอัดแน่นด้วยประสบการณ์ที่มากพอ แต่ก็อย่าลืมการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด เช่นเดียวกับการพัฒนาตนเอง ยิ่งสมัยนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เทคโนโลยีใหม่ๆ ผุดขึ้นตลอดเวลา จึงควรเรียนรู้และก้าวให้ทันเด็กๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงาน นั่นก็จะกลายเป็นแต้มต่อที่คุณสามารถแสดงให้บริษัทที่คุณกำลังจะไปสมัครงานได้เห็นว่า อายุไม่ใช่อุปสรรค เพราะคุณยังเดินตามเทรนด์ต่างๆ อยู่เสมอ

โดยในปัจจุบันมีคอร์สเรียนออนไลน์เพื่อเพิ่มพูนทักษะมากมาย แถมบางที่ยังมีใบประกาศรับรองให้ด้วย ซึ่งคุณสามารถนำหลักฐานนี้แนบลงไปกับเรซูเม่ได้เลย เลือกตำแหน่งและระดับการทำงานที่เหมาะกับความสามารถ อย่างที่กล่าวไปว่าบางบริษัทที่มีข้อจำกัดในเรื่องอายุของผู้สมัครงาน อาจเป็นด้วยเหตุผลของโครงสร้างเงินเดือน หรือระดับตำแหน่งของพนักงานที่อาจไม่ต้องใช้ความสามารถและประสบการณ์เท่ากับคนอายุ 30+ ดังนั้นการมองหางานใหม่สำหรับคนวัย 30 จึงควรคำนึงถึงเรื่องของตำแหน่งและระดับการทำงานด้วย เพราะเมื่ออายุเยอะขึ้น ตำแหน่งของคุณก็ต้องสูงตามไปด้วย ไม่มีใครที่อยากเห็น Career Path ของตัวเองหยุดอยู่กับที่แน่นอน

ยิ่งถ้าไปคุณไปสมัครงานที่ต้องมีการแข่งขันกับเด็กจบใหม่ ก็อาจมีโอกาสน้อยในการได้งานนั้น จึงอาจต้องลองสมัครในตำแหน่งที่สูงกว่า Junior เช่น Senior หัวหน้างาน หัวหน้าทีม หรือผู้จัดการ ซึ่งตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้คุณได้พัฒนาทักษะด้านการบริหารจัดการทีมได้อีกด้วย ถือเป็นการต่อยอดในการเติบโตไปอีกขั้น แต่หากไม่ต้องการทำงานในตำแหน่งหัวหน้าหรือผู้จัดการจริงๆ ก็ต้องยอมรับกับเงื่อนไขในเรื่องของเงินเดือน ที่อาจจะเท่าเดิมหรือลดลงก็เป็นได้

ประสบการณ์คือจุดขาย ขึ้นชื่อว่าประสบการณ์แล้ว เป็นสิ่งที่ไม่สามารถสอนได้ในมหาวิทยาลัย หรือไม่มีบรรจุไว้ในตำราเล่มไหนทั้งสิ้น ดังนั้นนี่ถือเป็นข้อได้เปรียบสุดของคนทำงานวัย 30+ ที่จะมีชัยเหนือคู่แข่งอย่างเด็กจบใหม่ในการสมัคร งาน เพราะน้องๆ จะยังไม่เคยได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อมการทำงานจริงๆ หรือรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีเท่าคุณ โดยเมื่อได้คุณเช้าสู่ขั้นตอนการสัมภาษณ์งานใหม่ อาจดึงเอาจุดแข็งตรงนี้มาพรีเซนต์ตัวเองได้ ว่าคุณสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี มีวิธีรับมือกับคนที่ทำงานที่ดี หรือสามารถบริหารจัดการปริมาณงานให้เป็นไปตามกำหนดการได้ เป็นต้น นอกจากนี้บางตำแหน่งงานที่ต้องใช้คนที่มีทักษะเฉพาะหรือมีประสบการณ์จริงๆ ก็จะช่วยทำให้คนวัย 30+ ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าเด็กจบใหม่

คุณสามารถระบุทักษะเพิ่มเติมลงไปในเรซูเม่ได้เลย เผื่อให้ฝ่าย HR ของบริษัทที่คุณสมัครงาน ได้เห็นความสามารถตั้งแต่แรก ดีกว่าที่จะไปตอนสัมภาษณ์งาน เพราะถ้าไม่ระบุลงไปเรซูเม่ ก็อาจโดน HR ปัดตกใบสมัครงานก็ได้ ควรแสดงออกถึงความน่าเชื่อถือ แน่นอนว่าคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ย่อมมีความเป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะ และดูความน่าเชื่อถือกว่าเด็กจบใหม่ โดยเฉพาะในบางตำแหน่งที่ต้องอาศัยการพบปะกับลูกค้า หรือพรีเซนต์งานต่างๆ เช่น งานเซลล์ ในจุดนี้ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคุณถือเป็นตัวแทนและเป็นหน้าตาของบริษัท คนทำงานที่อายุ 30+ ย่อมได้เปรียบกว่าเด็กจบใหม่ เพราะอย่างน้อยคุณก็เคยผ่านจุดที่ต้องพรีเซนต์งาน หรือนำเสนอสินค้าให้กับลูกค้ามาก่อนอยู่แล้ว

นอกจากนี้เรื่องของวุฒิภาวะ หรือ EQ ต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญในการทำงาน เมื่อคนที่อายุมากขึ้น ประสบการณ์ต่างๆ ก็จะช่วยสอนให้คนวัยนี้ปรับตัวและเข้าใจในเรื่องราวหรือปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การวางแผนงานอย่างเป็นขั้นตอน หรือเรื่องของการทำงานเป็นทีม ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้นิสัยและปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงาน แสดงให้เห็นว่า Generation Gap ไม่ใช่ปัญหา อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่บางบริษัทคำนึงถึงในการรับพนักงานอายุ 30+ นั่นคือเรื่องของช่องว่างระหว่างวัยของคุณกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นเด็กจบใหม่ บางบริษัทอาจคิดว่าพนักงานที่อายุเยอะแล้ว หรืออัดแน่นด้วยประสบการณ์ มักเป็นคนที่มีอีโก้สูง หรือเป็นคนที่ไม่ค่อยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่นเท่าที่ควร จนอาจกลายเป็นปัญหาให้คุณทำงานร่วมกับเด็กจบใหม่ไม่ได้ รวมไปถึงเรื่องของสไตล์การทำงานหรือความเข้ากันได้ของทีม ก็สามารถเกิดปัญหากับคนที่อายุต่างกันมากๆ ได้ นอกจากนี้ยังรวมไปเรื่องของหัวหน้าทีมที่อาจจะไม่ได้มีอายุมากขนาดนั้น เขาก็อาจจะไม่ได้อยากรับลูกทีมที่มีอายุมากกว่า เพราะคิดว่าคุยได้ยากกว่าคนทำงานที่วัยใกล้เคียงกัน

ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ของคนวัยทำงาน 30+ อีกเช่นกัน ที่จะต้องพรีเซนต์ตัวเองให้บริษัทที่คุณไปสมัครได้รับรู้ว่าสามารถปรับตัวเรื่องช่องว่างระหว่างวัยได้ดี และสามารถทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ได้แบบไร้ปัญหา โดยอาจเขียนเป็น Cover Letter หรือแสดงแนวคิดของคุณให้บริษัทนั้นๆ เห็นในขั้นตอนของการสัมภาษณ์งาน เช่น การเล่าว่าคุณมีทัศนคติกับเพื่อนร่วมงานที่อายุน้อยกว่า หรือการมีหัวหน้าที่อายุน้อยกว่าอย่างไร หรืออาจลองบอกว่าตัวคุณเองเป็นคนที่เปิดรับความคิดเห็นของทุกคน ไม่ว่าความเห็นนั้นจะมาจากคนวัยใดก็ตาม ไม่มีการใช้อารมณ์เป็นตัวนำ หรือนำเอาอายุมาเป็นเครื่องตัดสินความสามารถเพื่อนร่วมงาน

สรุปเทคนิคหางานสำหรับคนอายุ 30+
คำว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” ยังคงใช้ได้เสมอ ขอแค่คุณมีความมั่นใจในประสบการณ์และทักษะความสามารถแบบอัดแน่นในตัว พร้อมทั้งไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง เพียงแค่นี้บริษัทที่คุณสมัครงานด้วย ก็จะย่อมเล็งเห็นถึงศักยภาพ จนมองข้ามเรื่องของอายุไปได้ในที่สุด

Cr.Jobs